ความเป็นมา
- รายละเอียด
- หมวด: หน่วยงาน
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 05 พฤศจิกายน 2557 08:56
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 12805
มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (24 กรกฎาคม 2555)
Download ความเป็นมา และโครงสร้าง ฉบับภาษาไทย-อังกฤษ
ความเป็นมา
จากปัญหาการทุจริตที่ผ่านมา มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีคำสั่งที่ 69 /2557 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐกำหนดมาตรการหรือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในหน่วยงาน โดยมุ่งการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงาน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง เพื่อสกัดกั้นมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบ รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการทุจริต ซึ่งได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ
โดยรัฐบาลได้เสริมสร้างกลไกขับเคลื่อนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต ขึ้นมา 3 ระดับคือ คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เป็นกลไกระดับนโยบาย มีนายกรัฐมนตรี /หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธาน กรรมการจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติให้เป็นกลไกขับเคลื่อนภาพรวมประดับประเทศ และกลไกระดับปฏิบัติการ โดยการออกมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ซึ่งประจำอยู่ทุกส่วนราชการระดับกระทรวง หรือเทียบเท่า ปัจจุบันมีจำนวน 35 ศูนย์ ให้เป็นกลไกประสานงาน กำกับ ติดตาม และรายงานผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย ข้อสั่งการ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต กับหน่วยงานภายใต้กำกับทั้งหมด ซึ่งได้แก่หน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รวมทั้ง รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เป็นกลไกขับเคลื่อนประสาน กำกับ ติดตามผลการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ในฐานะที่สำนักงาน ป.ป.ท. เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ
ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต มีบทบาท ภารกิจ อำนาจหน้าที่
ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และด้านคุ้มครองจริยธรรม ดังนี้
อำนาจหน้าที่ กลุ่มงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
1. ศึกษา วิเคราะห์ รวบรวมข้อมูลสภาพปัญหา เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการ แนวทางการป้องกันและปราบปราม
การทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการ
2. จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการ
3. ให้คำปรึกษาแนะนำ ประสานงาน เร่งรัด กำกับและติดตาม ให้ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนในกำกับของกระทรวง ดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
4. รับข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริต การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจองค์การมหาชนในกำกับของกระทรวง และส่งต่อไปยังส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประสานติดตามอย่างต่อเนื่องจนได้ข้อยุติ
5. เป็นกลไกการปฏิบัติหรือประสานการปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) สำนักงาน ป.ป.ท. สำนักงาน ป.ป.ช. หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่ ศอตช. มอบหมายและกำกับติดตามการดำเนินการตามมติ - ข้อสั่งการ ของ คตช. ที่เกี่ยวข้อง
6. ทำการตรวจสอบเปรียบเทียบผลการดำเนินการปกครอง วินัยของหน่วยงานในสังกัด เสนอความเห็นต่อปลัดกระทรวงหรือรัฐมนตรีแล้วแต่ละกรณี แล้วแจ้งให้ศอตช. ทราบ
7. เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในส่วนราชการ
8. ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในส่วนราชการ
9. ติดตามประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และจัดทำรายงานผลการดำเนินงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาพรวมของส่วนราชการส่งสำนักงาน ป.ป.ท. สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อำนาจหน้าที่ กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม
1. คุ้มครองจริยธรรมตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน และประมวลจริยธรรมอื่นๆ
2. ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการจริยธรรมประจำส่วนราชการ
3. ประสานการดำเนินงานเกี่ยวกับจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปี แผนงาน/โครงการ ตลอดจนบูรณาการแผนงาน/โครงการเกี่ยวกับการคุ้มครองจริยธรรม การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม จรรยาข้าราชการ และเสริมสร้างวินัยของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนในกำกับของกระทรวง
4. รวบรวมปัญหาการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนในกำกับของกระทรวง ตลอดจนเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงประมวลจริยธรรมต่อสำนักงาน ก.พ.
5. ติดตาม ประเมินผลการดำเนินการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม จรรยาข้าราชการ การเสริมสร้างวินัย และการดำเนินการตามประมวลจริยธรรมข้าราชการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนเสนอหัวหน้าส่วนราชการ และส่งผลการดำเนินการให้กลุ่มงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จัดทำรายงานผลการดำเนินงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาพรวมของส่วนราชการ
คณะรัฐมนตรีมีมติ 12 กรกฎาคม 2559
1. เห็นชอบมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเสนอ ดังนี้
1.1 ให้ อ.ก.พ. กระทรวงเกลี่ยอัตรากำลังและกำหนดตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานปลัดกระทรวงทุกกระทรวง เว้นแต่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ให้สอดคล้องกับภารกิจ โดยอย่างน้อยต้องมีผู้ปฏิบัติหน้าที่ (1) รองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเป็นข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษหรือระดับเชี่ยวชาญ โดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกำหนดหรือมอบหมาย (2) หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบและหัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม ซึ่งเป็นข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการหรือระดับชำนาญการพิเศษ ทำหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือการส่งเสริมและคุ้มครองจริยธรรม แล้วแต่กรณี ตามที่หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตมอบหมาย ทั้งนี้ การเกลี่ยอัตรากำลังและการกำหนดตำแหน่งให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ในกรณีที่ส่วนราชการไม่มีอัตราว่างเพียงพอ ให้พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากการเกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เพื่อรองรับการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตต่อไป แล้วรายงานให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ในฐานะฝ่ายเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติทราบ
1.2 ให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งส่งเสริมและคุ้มครองจริยธรรมตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่โดยเคร่งครัด โดยในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตประสานงาน ร่วมมือ หรือดำเนินการอื่นใดตามที่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติหรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐสั่งการหรือร้องขอ แล้วแต่กรณี
1.3 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐร่วมกันกำหนดแนวทางการบริหารงานและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต รวมทั้งแนวทางความก้าวหน้าในสายอาชีพของผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต
1.4 ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการให้รางวัลตอบแทนผู้ทำประโยชน์ หรือการดำเนินการอื่นใดในการยกระดับธรรมาภิบาลและเสริมสร้างกลไกการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
2. ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกี่ยวกับการพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 โดยให้ถือปฏิบัติตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 และระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ส่วนค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณต่อๆ ไป เห็นควรให้ส่วนราชการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป และควรพิจารณาทบทวนชื่อตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรมตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ที่กำหนดเป็นข้าราชการตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการหรือระดับชำนาญการพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม ตามข้อ 17 แห่งประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ที่กำหนดให้ข้าราชการดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้นขึ้นไปเป็นหัวหน้ากลุ่มงานฯ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย